ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การเจรจาประนอมหนี้

       หนี้คำที่ผู้ประกอบการหลายคนไม่ปรารถนาแม้เพียงการเอื้อนเอ่ย หรือหากเป็นไปได้จะไม่มีคำนี้ ในพจนานุกรม เลยยิ่งดี แต่ทว่าเราไม่สามารถจะปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้ เมื่อต้องการขยายกิจการ นั่นคือต้องเพิ่มการลงทุน และแน่นอนว่าเราต้อง กู้เงินซึ่งผลพวงที่ตามมากลายเป็นสถานะของ ลูกหนี้ไปโดยปริยาย
จากสภาวะทางเศรษฐกิจและปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งที่สำคัญราคาน้ำมันของโลกที่สูงขึ้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ประกอบการในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปด้วย แต่สินค้าที่ผู้ประกอบการได้ผลิตเพื่อนำออกมาจำหน่าย ตามท้องตลาด หรือร้านค้าปลีก ไม่สามารถขึ้นราคาตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงได้ สาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการหลายราย ต้องขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเงินหมุนเวียนทางการค้าต้องหยุดชะงัก หรือไม่มีเงินที่จะทำการค้าต่อไปได้ บางครั้งถึงขนาดที่ต้องประสบกับการขาดทุนอย่างมาก จนต้องหยุดหรือปิดกิจการเพราะไม่สามารถที่จะดำเนินการประกอบ กิจการค้าต่อไปได้
จากสภาวะดังกล่าวข้างต้นทำให้ผู้ประกอบการต้องมีหนี้สินและมีเจ้าหนี้ทางการค้าต่างๆ มากมาย ยิ่งถ้าต้องไปกู้เงินจากสถาบัน การเงินเพื่อนำมาซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้า หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนด้วยแล้ว ย่อมต้องเกิดปัญหาตามมา คือไม่มีเงินชำระหนี้ ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เมื่อขาดส่งหลายงวด จะตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้นั้นสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ย เป็นดอกเบี้ยผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าวจะเป็นอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน หรือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี นอกจากนี้หากเป็นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สถาบันการเงินสามารถนำดอกเบี้ยที่ค้างชำระในแต่ละเดือนทบเข้ากับต้นเงิน ที่ค้างชำระได้ และจะกลายเป็นต้นเงินใหม่ เพื่อนำไปคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไป ทำให้เกิดภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้นไปอีก
ยกตัวอย่างกรณีลูกค้าของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวน 2,000,000 บาท แต่เมื่อเกิดสภาวะ ทางเศรษฐกิจจนลูกหนี้ไม่สามารถที่จะนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ได้ ทำให้เกิดดอกเบี้ยค้างชำระเป็นเงิน 100,000 บาท ธนาคารก็ จะนำเอาดอกเบี้ยดังกล่าวไปรวมกับต้นเงิน 2,000,000 บาท เป็นยอดต้นเงินใหม่ 2,100,000 บาท และคิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน ดังกล่าว ดังนั้น จำนวนดอกเบี้ยจะสูงกว่าเดิมเพราะยอดเงินต้นเพิ่มขึ้น ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นจะทำให้เข้าใจถึงภาระหนี้ที่เพิ่มจำนวน มากที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระในการชดใช้หนี้ดังกล่าวต่อสถาบันการเงินนั้นๆ
การที่ผู้ประกอบการต้องมีภาระหนี้เป็นจำนวนมากอาจทำให้กังวลและท้อแท้จนไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งการมีหนี้กับสถาบัน การเงินไม่ใช่การจบสิ้นของกิจการ ถ้าเห็นว่ากิจการยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ ก็ควรตั้งสติและค่อยๆ แก้ปัญหา เพราะสถาบัน การเงินทุกแห่งมีนโยบายที่จะประนอมหนี้กับลูกค้า
ผู้ประกอบการไม่ควรที่จะนิ่งเฉย แต่ควรหาช่องทางในการที่จะนำเสนอหนทางผ่อนปรนในการชำระหนี้หรือขอประนอม หนี้ ซึ่งในทางกฎหมายการผิดนัดชำระหนี้เป็นเพียงคดีแพ่งเท่านั้น คู่กรณีสามารถที่จะเจรจาตกลงกันได้ตลอดเวลา ถึงแม้คดีจะอยู่ในชั้นศาลแล้ว ถ้าไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยก็คงไม่มีปัญหาอะไร การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นที่มีกับ สถาบันการเงิน คือ
การขอเจรจาประนอมหนี้ เพื่อจะได้มีโอกาสและมีเวลาในการผ่อนชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน หลักการในการเจรจาขอ ประนอมหนี้มีอยู่หลายแบบ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของสถาบันการเงินนั้นๆ ว่ามีหลักการที่จะช่วยเหลือลูกหนี้เพียงใด ซึ่งนโยบายแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน แต่วิธีการเจรจาของลูกหนี้โดยรวมแล้วจะมีวิธีการที่หลากหลาย
บ้างขอให้ลดยอดหนี้ลงบางส่วน ขอขยายเวลาการชำระหนี้ ขอลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละงวด ขอให้คิดดอกเบี้ยในอัตรา ปกติที่ไม่ผิดนัด หรือขอโอนหลักประกันเพื่อชำระหนี้ ฯลฯ ซึ่งการเจรจาจะสำเร็จหรือไม่นั้น สถาบันการเงินทุกแห่งจะพิจารณา ตรวจสอบราคาประเมินของหลักประกันที่ได้ให้เป็นประกันไว้ ว่าราคาประเมินสูงกว่าหนี้ที่มีอยู่หรือไม่ รวมถึงชื่อเสียงหรือเครดิต ของลูกค้าด้วย เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะอนุมัติผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้
ขั้นตอนการขอเจรจาประนอมหนี้กับสถาบันการเงิน
ขอแนะนำว่าควรเจรจาด้วยความสุภาพและด้วยความสัมพันธ์ที่ดี อย่าใช้อารมณ์ในการเจรจา พยายามพูดด้วยเหตุผลถึงความจำเป็น ของการไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งหากเจรจาโดยใช้วาจาไม่สุภาพหรือใช้อารมณ์อาจทำให้ไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ จะทำให้ เป็นการเร่งรัดสถาบันการเงินนั้นให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเร็วขึ้น
และถ้าไม่สามารถเจรจาตกลงประนอมหนี้ได้ สถาบันการเงินจะมีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ โดยมีกำหนดระยะเวลาไว้ และจะ นำคดีมาฟ้องต่อศาลต่อไป ซึ่งหากถูกฟ้องคดีที่สำคัญอย่าตกใจ เพราะไม่ใช่คดีอาญาที่เกี่ยวกับการต้องถูกจำคุก ควรที่จะใจเย็น กล้าที่จะเผชิญหน้า และควรจะศึกษาขั้นตอนในการดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งการเตรียมตัวในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ด้วย
เมื่อสถาบันการเงินได้ฟ้องคดีแล้ว !!
ผู้ประกอบการจะได้รับคำฟ้องพร้อมหมายเรียก โดยหมายเรียกจะมีวันนัดไกล่เกลี่ยหรือวันนัดสืบพยานของโจทก์ (โจทก์หมายถึง ผู้ที่ฟ้องคดี) ทั้งนี้ต้องตรวจสอบด้วยว่าได้มีการรับหมายพร้อมสำเนาคำฟ้องเมื่อไร เพราะจะทราบถึงเวลาที่สามารถจะยื่นคำให้การ ซึ่งผู้ประกอบการควรจะต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดี ไม่ว่าคดีนั้นจะมีข้อต่อสู้ที่เห็นว่าเจ้าหนี้เอาเปรียบ ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงิน ได้คิดนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป หรือไม่เห็นด้วยกับยอดหนี้ ก็จะต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดย ปัจจุบันนี้ในแต่ละศาลจะมีการไกล่เกลี่ยก่อนที่จะพิจารณาคดี เพื่อที่จะได้ยุติข้อพิพาทในทางคดีโดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าสู่ กระบวนการพิจารณาของศาล และจะทำให้ข้อพิพาทในทางคดีจบลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการไกล่เกลี่ยนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีหรือจำเลย สามารถที่จะเข้าไกล่เกลี่ยเองได้ โดยไม่ต้องมีทนายความ
แต่ถ้าหากการไกล่เกลี่ยยังไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจะกำหนดให้มีการสืบพยานทั้งสองฝ่าย โดยก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา ผู้ประกอบการยังสามารถติดต่อขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ และหากสามารถตกลงกันได้ศาลจะนัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กันต่อไป
ในกรณีที่ไม่สามารถจะตกลงกันได้ ศาลจะพิจารณาพิพากษาตามพยานหลักฐานต่อไป ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังสามารถที่จะเจรจาเพื่อ ขอผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ได้อีก คือการเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี แต่ถ้าหากคดีมีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยในชั้นอุทธรณ์ยังสามารถที่จะกระทำได้ ซึ่งในขณะนี้ศาลอุทธรณ์ได้จัดให้มีการไกล่เกลี่ยในชั้นอุทธรณ์ ด้วย
จะเห็นได้ว่าการดำเนินกระบวนการทางกฎหมายไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนใด สามารถที่จะเจรจาได้ตลอดเวลา
นอกจากการดำเนินคดีแล้ว สถาบันการเงินยังมีการดำเนินคดีกับลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้ต่อไปอีก นั่นคือ
ในกรณีที่ได้มีการยึดทรัพย์และนำออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้
คือ การดำเนินคดีฟ้องล้มละลาย ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้ไม่ควรที่จะอยู่นิ่งเฉย ควรที่จะศึกษาเพื่อที่จะดำเนินกระบวนการตาม ขั้นตอนของกฎหมายต่อไปด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทางคดีของตนเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังสามารถที่จะเจรจาขอประนอม หนี้กับเจ้าหนี้ได้อีกเช่นกัน ซึ่งถ้าหากตกลงกันได้สถาบันการเงินก็จะถอนฟ้องคดีล้มละลายจากศาล
วิธีการเจรจาประนอมหนี้นั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้ที่จะเจรจากันนั้นได้รับความพอใจทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ดังนั้นแนวทางการเจรจาจึงขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ เช่น ธนาคารได้รับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยบางส่วน และลูกหนี้ได้รับลดหนี้และขยายระยะเวลาการชำระหนี้เป็นต้น
การแก้ปัญหาโดยการเจรจาประนอมหนี้ เป็นเพียงแนวทางการแก้ปัญหาทางหนึ่งในหลายๆ ทาง ซึ่งการเจรจาประนอมหนี้ กับสถาบันการเงินข้างต้นก็อาจจะเป็นแนวทางในการไขปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้ทางการค้ารายอื่นๆ ได้ โดยไม่ทำให้เกิดความ เสียหายแก่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ดังนั้นการเจรจาเพื่อประนอมหนี้จึงถือว่าเป็นการออมชอมระหว่างกันหรือร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สิน รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาของชาติโดยรวมด้วย
ที่มา : เชิดศักดิ์ ธีรนันทวาณิช ที่ปรึกษา SMEs (Business Thai)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น